ปริทัศน์หนังสือ : New Public Governance, the Third Sector, and Co-Production Edited by Victor Pestoff, Taco Brandsen, and Bram Verschuere

พัชรสฤษดิ์ กนิษฐเสน

Abstract


หนังสือเรื่อง New Public Governance, the Third Sector, and Co-Production เป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในซีรีย์หนังสือเจ็ดเล่ม ที่รวบรวมขึ้นเพื่อพัฒนาการบริหารภาครัฐในปัจจุบัน โดยงานชิ้นนี้มี Victor Pestoff, Taco Brandsen, และ Bram Verschuere ร่วมกันเป็นบรรณาธิการ เนื้อหาโดยรวมเป็นการนำเสนอกรอบแนวคิดใหม่ในการบริหารงานภาครัฐ คือการบริหารกิจการบ้านเมืองแนวใหม่ (Public Governance) โดยเน้นไปที่แนวคิดการร่วมผลิต (Co-Production) ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้รับบริการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกับภาครัฐ และการเข้ามามีบทบาทของภาคส่วนที่สาม (Third Sector) คือภาคประชาสังคม องค์กรไม่แสวงหากำไรในการร่วมผลิตบริการสาธารณะ ความพิเศษของงานชิ้นนี้ไม่ได้อยู่เพียงเนื้อหาวิชาการ ที่ลุ่มลึก ทั้งในแง่ทฤษฎี และปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่ถูกนำมาวิเคราะห์เท่านั้น แต่อยู่ที่การแสดงให้เห็นโอกาสในการประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด อันอาจนำไปสู่กรอบมโนทัศน์ใหม่ด้านการบริหารงานภาครัฐของไทยในอนาคต 

          ด้วยเหตุที่ว่าการบริหารจัดการภาครัฐในปัจจุบันของประเทศไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายและ      แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทั้งภายในรัฐและภายนอกรัฐอยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของการพัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการสาธารณะเพื่อความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ทั้งการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นจำนวนผู้สูงอายุ ส่งผลให้ประชาชนยิ่งต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามรัฐกลับต้องพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณลง  ปัญหาดังกล่าวทำให้การบริหารงานภาครัฐที่เป็นอยู่ถูกตั้งคำถามมากขึ้นถึงความสามารถในแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ

          ขณะเดียวกันการกระจายอำนาจได้พัฒนาบทบาทของพลเมืองภาคประชาสังคมและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมให้เข้ามามีบทบาทต่อการให้บริการสาธารณะมากขึ้น  ทั้งในแง่ของการมีส่วนร่วมในการวางแผนและการดำเนินโครงการต่างๆร่วมกับรัฐ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหารหากก็ยังเห็นแนวโน้มการเติบโตของการกระจายอำนาจที่ควรจะดำเนินต่อไป บทบาทภาคพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาครัฐไม่สามารถกำหนดนโยบาย หรือให้บริการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากประชาชนได้  การบริหารงานภาครัฐต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เกิดขึ้น         จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ

          กรอบความคิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจนำไปประยุกต์ใช้มากขึ้นในปัจจุบัน คือกรอบแนวคิด            การบริหารกิจการบ้านเมืองแนวใหม่ New Public Governance (NPG) ซึ่งให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคส่วนอื่นๆนอกภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลเมือง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภาคเอกชน ให้เข้ามามีบทบาทร่วมกับภาครัฐในการนำนโยบายไปปฏิบัติและนำส่งบริการสาธารณะ Jacob Torfing และ Peter Triantafillou (2013, p. 19) ได้อภิปรายถึงปัจจัยสำคัญที่จะไปสู่การพัฒนาและการนำแนวคิด NPG ไปใช้อย่างแพร่หลายไว้สี่ประการ  ประการแรก ประเทศกลุ่ม OECD ได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ OECD ในช่วงทศวรรษที่1990 ถึงต้นปี 2000 นั้นมีความสัมพันธ์กับการจัดงบประมาณขาดดุล เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2008 การขาดดุลงบประมาณก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราคนว่างงาน และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางสังคมของรัฐผสมกับรายได้จากภาษีที่ลดต่ำลง ดังนั้นบางประเทศจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการตัดหรือปรับลดสวัสดิการสังคมลง การขาดดุลงบประมาณระยะยาวจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าลำพังการปฏิรูปการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) ไม่เพียงพอในการรักษาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นักนโยบายสาธารณะจึงพยายามมองหาทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองเท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดความประหยัดทางเศรษฐกิจด้วย แนวทางดังกล่าวคือแนวทางที่สร้างการยอมรับจากประชาชนและขับเคลื่อนทรัพยากรของตัวแสดงสาธารณะด้วยการพัฒนารูปแบบใหม่ของความร่วมมือขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการบริหารจัดการบ้านเมืองแนวใหม่ (New Public Governance)

          ประการที่สอง ความต้องการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาแนวทางใหม่ในการให้บริการสาธารณะ สาเหตุที่ความต้องการบริการสาธารณะที่คุณภาพสูงมาจากหลายประการเช่น กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งต้องรักษาความสามารถการแข่งขันบนเวทีโลกทำให้รัฐต้องลงทุนมหาศาลในด้านการศึกษาและการวิจัย อีกประการหนึ่งคือ ความไม่พอใจของชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นจากการไม่ได้รับทางเลือกในการบริการสาธารณะ สุดท้ายเป็นผลคาดไม่ถึงจากการปฏิรูป NPM  ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความพอใจให้ลูกค้า ได้สร้างวัฒนธรรมที่ทำให้พลเมืองสนใจสิทธิของตนเอง                 ในการได้รับบริการมากกว่าการรักษาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ       

          ประการที่สาม การเกิดขึ้นของความเป็นเหตุเป็นผลใหม่ทางการเมือง ที่ให้ความสำคัญกับบทบาท  เชิงบวกของภาคประชาสังคม กล่าวคือ กลุ่มผู้กำหนดนโยบายยอมรับความสำคัญของความเคลื่อนไหวและทรัพยากรของพลเมืองในการพัฒนาประชาธิปไตย ว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการให้บริการสาธารณะที่ยั่งยืน ดังที่ประเทศกลุ่ม OECD ได้กล่าวไว้ในงานสำคัญคือ “Government at a Glance”ว่าความท้าทายหลักของรัฐบาลในปัจจุบันคือต้องหลีกเลี่ยงความแตกแยกและการใช้อำนาจ ด้วยการรวบรวมความหลากหลายของตัวแสดงทางสังคม เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ทางนโยบายที่ดียิ่งขึ้น

          ประการสุดท้าย การศึกษาทางสังคมศาสตร์หลากหลายสาขาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม      และการร่วมผลิต (co-production) ในการกำหนดนโยบายและการนำส่งบริการสาธารณะ

          จะเห็นได้ว่าแนวโน้มดังกล่าวหลายประการ มีลักษณะทั่วไปที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่กรอบแนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองแนวใหม่ จะได้รับความสำคัญในอนาคต  งานเรื่อง New Public Governance, the Third Sector, and Co-Production เป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่รวบรวมงานศึกษา ด้านการร่วมผลิต (co-production) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการนำกรอบความคิดด้าน New Public Governance ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยตั้งคำถามทั้งในแง่ทฤษฎี การนำไปปฏิบัติ และผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการร่วมผลิต (co-production) งานชิ้นนี้จึงช่วยฉายภาพที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับผู้วิจัยของไทยในการกำหนดประเด็นศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการบริหารภาครัฐของประเทศไทยในอนาคต


Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.

ISSN 2985-2757 (Print)

ISSN 2985-2765 (Online)

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

แบบฟอร์มของวารสารฯ
     1. แบบฟอร์มเสนอขอส่งบทความเพื่อลงตีพิมพ์
     2. แบบฟอร์มการเขียนบทความวิจัย
     3. แบบฟอร์มการเขียนบทความวิชาการ
     4. รูปแบบการเขียนอ้างอิง-APA7    

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง | Lampang Rajabhat University | 南邦皇家大學

- คณะครุศาสตร์ - คณะวิทยาศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ - คณะวิทยาการจัดการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร - คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม - คณะพยาบาลศาสตร์ - โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย ฯ